บางเสี้ยวของมุมประวัติศาสตร์ “กีฬาสาธิตสามัคคี” เรียงตามปีเหตุการณ์
๑ ฝ่ายจัดการแข่งขันบอก-แนะนักกีฬา
ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่สาธิตเกษตรเป็นเจ้าภาพ มีข้อพูดคุยเรื่องการให้ความรู้นักกีฬาในขณะการแข่งขันกีฬาได้ เพราะสมัยนั้น ประธานจัดการแข่งขันเป็นอาจารย์ จะควบคุมการแข่งขันตลอด และให้ความรู้ในลักษณะการบอก แนะทางเครื่องขยายเสียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กติกาบางข้อที่เข้าใจผิดและกติกาที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ ในยุคปัจจุบันประธานจัดการแข่งขันเป็นบุคคลภายนอก การบอก-แนะนักกีฬาจะไม่มี หรือมีก็น้อยมาก ซึ่งกีฬาสาธิตสามัคคีนั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะสาธิตที่แปลกกว่ารายการแข่งขันอื่น เพราะการศึกษาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
๒ มีการนำเสนอจัดสาธิตสามัคคี ๒ ปีต่อครั้ง
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่สาธิตศิลปากรเป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมรวม มีการถกปัญหาเรื่องการจัดกีฬาสาธิตสามัคคี ให้เป็น ๒ ปีต่อครั้ง เพราะปัญหางบประมาณและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่ง รศ.ดร.จงรักษ์ ไกรนาม อดีตอาจารย์ใหญ่สาธิตเกษตร สรุปความว่าการลงทุนกับกีฬาและทำให้นักเรียนเข้าร่วมแข่งขันกีฬา ย่อมคุ้มค่ามหาศาล เกินกว่าประมาณเป็นตัวเงิน ดังนั้นการจัดแข่งขันทุกปี ถือว่าเหมาะสมและเป็นการพัฒนากีฬาอย่างต่อเนื่อง
๓ ตารางแสดงเหรียญรางวัล
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สาธิตเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ มีการใช้สถานที่ประชุมที่สาธิตเกษตร ร่วมกันเป็นข้อตกลงให้ แยกการแสดงตารางเหรียญรางวัลเป็น ๒ ระดับคือ ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้โรงเรียนที่มีเฉพาะประถมหรือมัธยม จะได้มีโอกาสติดอันดับเหรียญรางวัลอันดับต้นๆกับเขาบ้าง เสมือนเป็นกำลังใจนั่นเอง และการแสดงเหรียญรางวัลก็ไม่ต้องเรียงอันดับที่ว่าโรงเรียนใดได้มากไปหาน้อย แต่เรียงตามพยัญชนะของชื่อโรงเรียนแทน เพราะคำว่า “สามัคคี” เป็นสิ่งบ่งบอกเอกลักษณ์อย่างดี ที่จะทำให้กีฬาสาธิตสามัคคี แปลกกว่าการจัดการแข่งขันกีฬาในรายการอื่นๆ ที่เน้นเรื่องเหรียญรางวัลในบทสรุปสุดท้าย
๔ สถิติการเป็นเจ้าภาพกีฬาสาธิตสามัคคี
ครั้งที่ ๒๕ ปีการศึกษา ๒๕๔๓ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ริเริ่มบอกรายละเอียดการเป็นเจ้าภาพสาธิตสามัคคีลงใน “หนังสือกีฬาสาธิตสามัคคี” ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ จนครั้งที่ ๒๕ ว่า จัดกีฬาชนิดใดบ้าง คำขวัญ และสัญลักษณ์การแข่งขันเป็นอะไร มีโรงเรียนใดที่ส่งกองเชียร์ เป็นต้น เพื่อให้เห็นข้อมูลในส่วนสำคัญ จากนั้นโรงเรียนเจ้าภาพต่อมา ก็นำข้อมูลมาเป็นส่วนประกอบทุกปี
๕ ลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตครั้งแรก
ครั้งที่ ๒๙ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ สาธิตจุฬาเป็นเจ้าภาพ ริเริ่มการลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ให้ทันสมัย จากเดิมที่ใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องยืนยันการลงนามจากอาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการเป็นเอกสารการลงทะเบียนอีกครั้ง เพื่อความถูกต้อง ซึ่งเจ้าภาพต่อๆ มา ก็ใช้อินเทอร์เน็ตในการลงทะเบียนนักกีฬามาตลอด แต่ที่ต้องพัฒนาต่อไปคือการใช้โปรแกรมที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบโปรแกรมตามเจ้าภาพทุกๆ ปี
๖ สถิติของโล่รางวัลชนะเลิศคะแนนรวมว่ายน้ำและกรีฑา
สาธิตเกษตรเตรียมเป็นเจ้าภาพครั้งที่ ๓๑ ในปีการศึกษา ๒๕๔๙ ดังนั้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงเริ่มรวบรวมผลการแข่งขันที่เป็นสถิติของโล่รางวัลชนะเลิศคะแนนรวมว่ายน้ำและกรีฑา ใช้เป็นหลักฐานในการจัดทำถ้วยจำลองเพื่อมอบเป็นกรรมสิทธิ์ ให้กับโรงเรียนที่ครองถ้วยรางวัลชนะเลิศคะแนนรวม ๓ ปีซ้อน ตามข้อบังคับข้อ ๒๙ ซึ่งตารางสถิตินี้ได้ช่วยให้เจ้าภาพในแต่ละปี ทำงานได้สะดวกขึ้น
๗ เกณฑ์พิจารณานักกีฬาดีเด่น
จากการที่สาธิตเกษตรเป็นเจ้าภาพครั้งที่ ๓๑ ในปีการศึกษา ๒๕๔๙ ทำให้ต้องวางเกณฑ์พิจารณานักกีฬาดีเด่นขึ้นอย่างเป็นหลักฐาน มีเอกสารอ้างอิง ซึ่งช่วยให้เจ้าภาพในปีต่อๆไปทำงานได้คล่องตัว เพราะการแข่งขันที่ผ่านๆมานั้น ไม่มีเกณฑ์พิจารณาที่เป็นเอกสาร มีแต่การพูดคุย ทำให้การตั้งกฎเกณฑ์ไม่ครอบคลุม
๘ จาก สาธิต-สามัคคี มาเป็น สาธิตสามัคคี
เพียงเครื่องหมายยัติภังค์ ระหว่างคำว่า “สาธิต”และ”สามัคคี” ปีที่สาธิตบูรพาเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ ๕๒ (ปี พ.ศ. ๒๕๕๒) มีการถามในที่ประชุมว่า เครื่องหมายขีดสั้น(ยัติภังค์) มีใครรู้ความหมายเริ่มต้นของคำว่า “สาธิต-สามัคคี” ก็ไม่มีเสียงตอบแต่อย่างไร กาลเวลาผ่านมา.. ขอคิดในแนวภาษาไทยและวิเคราะห์ย้อนกลับไปอดีต (ภาษาไทยใช้ยัติภังค์(-) แทนการบอกถึงการประมาณช่วงค่า หรือ การบอกต้นทางไปยังปลายทาง อ่านว่า “ถึง” นำมาวิเคราะห์ต่อว่า กว่า “สาธิต” (โรงเรียนสาธิตต่างๆ) จะไปถึงคำว่า “สามัคคี” ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน สอนให้รู้ถึงความอดทน อดกลั้น บากบั่น จากแรงกายแรงใจ เพื่อสู่สามัคคี ..แต่การใช้คำว่า “สาธิตสามัคคี” เสมือนเป็นวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่ต้องการอะไรที่รวดเร็ว เบ็ดเสร็จ ไม่ต้องรอนาน การตัด ยัติภังค์ (-) ออกไป จึงดูเหมือนการรอคอยน้อยลง ..ก็น่าคิดเช่นกัน..
๙ หนังสือกีฬาสาธิตสามัคคี
กีฬาสาธิตสามัคคี ครั้งที่ ๓๘ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ที่สาธิตศิลปากรเป็นเจ้าภาพ จัดทำหน้าปกหนังสือเป็นแบบสีเก่า รูปแบบคล้ายแบบเรียนสมัยโบราณ และรูปภาพของผู้บริหารก็เป็นแบบวาดภาพเสมือน ซึ่งดูแปลกตาและเป็นเอกลักษณ์ครั้งแรก ที่ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา